คลัทช์เสีย จะรู้ได้อย่างไร

คลัทช์เสีย ปัจจุบันนี้ รถยนต์รุ่นใหม่ไม่ว่าจะเป็นรุ่นไหนๆก็มีเกียร์อัตโนมัติให้ใช้กันแทบทุกรุ่น ซึ่งนั่นทำให้ผู้ที่ใช้รถหลายๆคนลืมนึกถึงชิ้นส่วนสำคัญๆอย่าง คลัทช์รถยนต์ ไป

และยังมีบางคนเข้าใจไปเองว่ารถเกียร์อัตโนมัตินั้น ไม่มีคลัทช์ ซึ่งจริงๆแล้วรถทุกคันล้วนมีคลัทช์ครับ ไม่ว่าจะเป็นเกียร์ธรรมดาหรือเกียร์อัตโนมัติก็ตาม หากพูดถึง คลัทช์รถยนต์ แล้ว เมื่อไหร่ที่ต้องเจอกับปัญหารถ คลัทช์เสีย ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่เลยทีเดียวครับ เพราะนอกจากคลัทช์จะทำให้รถไม่สามารถขับต่อไปได้แล้ว อาจจะยังทำให้ระบบเกียร์พังไปด้วย

แต่แน่นอนว่าทุกอย่างมักมีสัญญาณบ่งบอกก่อนเสมอครับ เพราะคุณสามารถสังเกตอาการได้ว่าการเหยียบแต่ละครั้งจะไม่เหมือนเดิม การตรวจเช็คคลัทช์นั้นไม่ยากและสามารถทำได้ด้วยตัวเอง ฉะนั้น วันนี้เราจะมาให้ข้อมูลในเรื่องของ คลัทช์รถยนต์ เป็นยังไง ทำหน้าที่อะไร สัญญาณเตือนหรืออาการคลัทช์หมด วิธีใช้คลัทช์ที่ถูกต้อง รวมถึงขั้นตอนการตรวจเช็คคลัทช์เบื้องต้นครับ

 คลัทช์ คืออะไร ?

คลัทช์ (CLUTCH) เป็นอุปกรณ์ส่วนควบอย่างหนึ่ง ที่รถทุกคันจะขาดไม่ได้ ติดตั้งอยู่ระหว่างเครื่องยนต์กับระบบเกียร์ ทำหน้าที่ในการตัดต่อการถ่ายทอดกำลังงาน จากเครื่องยนต์ไปยังระบบเกียร์ ทำให้เราสามารถเปลี่ยนเกียร์ได้ ในความเร็วต่างๆ ถ้าไม่มีคลัทช์ เราก็ไม่สามารถเปลี่ยนเกียร์ได้ ดังนั้นรถก็วิ่งไม่ได้ 

ในรถเกียร์อัตโนมัติก็ต้องอาศัยคลัทช์เช่นกัน เราเรียกว่า คลัทช์แบบอัตโนมัติ (AUTOMATIC CLUTCHES) ทำงานโดยอาศัยความเร็วรอบเครื่องยนต์เป็นหลัก เมื่อความเร็วรอบของเครื่องยนต์อยู่ในขณะเดินเบา แผนคลัทช์จะถูกเลื่อนออก และเมื่อความเร็วรอบของเครื่องยนต์สูงขึ้น แรงกดของคลัทช์จะกระทำกับแผ่นคลัทช์ ทำให้เกียร์เข้าได้โดยอัตโนมัติ

 

คลัทช์ ในรถยนต์เกียร์ธรรมดา มี 2 ประเภท

1. คลัทช์ที่ใช้สายสลิงควบคุมหรือดึง ชุดคลัทช์แบบนี้จะอยู่ใกล้กับแป้นคลัทช์ ใช้แรงเหยียบคลัทช์มากจึงไม่เป็นที่นิยมในรถยนต์ที่ใช้งานทั่วไปบนท้องถนน

2. คลัทช์ชนิดที่ใช้ระบบไฮดรอลิก(Hydraulic) ชุดคลัทช์จะอยู่ไกลจากแป้นเหยียบ จึงทำให้ใช้แรงเหยียบน้อยกว่าแบบแรก ระบบการทำงานคล้ายกับระบบเบรก ที่มีแม่ปั๊มเบรคกับตัวลูกปั๊มเบรค 

ส่วนประกอบของระบบส่งกำลัง 

1. ล้อช่วยแรง หรือฟลายวีล มีหน้าที่หมุนไปตามแรงเพลาข้อเหวี่ยง หน้าสัมผัสล้อช่วยแรงอีกด้านหนึ่ง จะสัมผัสกับแผ่นคลัทช์ และแรงสัมผัสนี้มีน้ำหนักมาก ในเวลาที่ล้อช่วยแรงหมุน แกนเพลาคลัทช์ในห้องเกียร์จะสามารถหมุนตามได้

2. แผ่นคลัทช์ มีลักษณะเป็นวงกลม มีเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กกว่า เส้นผ่านศูนย์กลางของล้อช่วยแรง เรียกว่า ผ้าคลัทช์ หรือ Clutch Lining ทำมาจากวัสดุที่เป็นใยหิน และสารสังเคราะห์ คุณสมบัติเหนียว และทนทานต่อการเสียดทาน ฉาบอยู่ด้านหน้า และหลังจานคลัทช์

3. แผ่นกดคลัทช์ หรือที่เรียกกันว่าหวีคลัทช์ จะประกบยึดอยู่กับฝาครอบคลัทช์ และล้อช่วยแรง ซึ่งจะทำงานเมื่อผู้ขับขี่ออกแรงเหยียบแป้นคลัทช์อยู่ในห้องโดยสาร แรงเหยียบจะถูกถ่ายทอดออกไปสู่ กระเดื่องกดแบริ่ง ที่มีแกนยื่นออกมานอกห้องคลัทช์ จากนั้นจะส่งแรงไปยังชุดกดแบริ่งที่ติดอยู่บนแกนเพลาคลัทช์ ตรงศูนย์กลาง ของแผ่น สปริงไดอะเฟรม

สัญญาณเตือน / อาการบ่งบอก !!

1. คลัทช์ลื่น เป็นสัญญานที่กำลังบอกว่าคลัทช์ของรถคุณใกล้หมด อาการของคลัทช์ลื่นคือ เครื่องยนต์ทำงานมีรอบเครื่องสูงขึ้นแต่ความเร็วรถยนต์ลดลงกว่าปกติ หรือรถไม่มีกำลังขึ้นทางชัน อาจเกิดจากการตั้งครัทช์ที่ไม่เหมาะสมกับกำลังเครื่องยนต์ ก็เป็นอีกอย่างที่จะทำให้เกิดคลัทช์ลื่นได้ สิ่งที่ตามมาคือ ผ้าคลัทช์อาจด้าน หวีคลัทช์ และฟลายวิลเกิดรอยไหม้ได้ ปัญหาแบบนี้ ควรให้ช่างที่เชี่ยวชาญรื้อคลัทช์ออกมาเช็คว่าเสียหายจุดไหนกันแน่ และหากพบสาเหตุแล้ว ควรเปลี่ยนผ้าคลัทช์ และหวีคลัทช์ใหม่, เจียรฟลายวิล หรือหาชุดคลัทช์แต่งให้เหมาะสมกับกำลังเครื่องยนต์ เพื่อความปลอดภัยในการขับรถอย่างเร่งด่วน

2. คลัทช์รั่ว วิธีซ่อมคลัทช์รถยนต์ที่มีปัญหาแบบนี้คือ ต้องสังเกตได้ว่า ตามกระบอกคลัทช์บนหรือล่างจะมีการซึมของน้ำมันคลัทช์ถ้าเช็คแล้วเห็นสายอ่อนคลัทช์มีรอยรั่ว หรือน้ำมันคลัทช์เริ่มลดลง อย่าเติมน้ำมันคลัทช์เพิ่ม แต่ให้เช็คหารอยรั่วก่อน และรีบแก้ไขให้เร็วที่สุด

3. คลัทช์สั่น สังเกตได้จากเวลาที่ออกตัว แล้วรถมีอาการสั่น กระตุก เกิดจากความไม่เรียบสม่ำเสมอของผ้าคลัทช์ หวีคลัทช์ และฟลายวิล แนะนำให้เปลี่ยนคลัชใหม่ หรือเอาหวีคลัทช์ไปเจียรใหม่

4. คลัทช์แตก สาเหตุเกิดจากการที่ขับรถรุนแรงก็คือมักจะชอบเหยียบคลัทช์แรงๆ ทำให้เสี่ยงที่คลัทช์จะแตกได้ง่าย หรืออาจเกิดจากโครงผ้าคลัทช์ที่ไม่ดี ไม่เหมาะสมกับกำลังรถ หรืออาจเกิดจากสปริงจานคลัทช์เสีย ทำให้หดตัว และถ้าผ้าคลัทช์แตก จะทำให้รถไม่สามารถเข้าเกียร์ได้ ให้เปลี่ยนคลัทช์ใหม่ที่มีโครงผ้าที่ดีและเหมาะสมกับกำลังรถ

วิธีใช้คลัทช์ ที่ถูกต้อง

- อย่าแช่คลัทช์ เวลาที่เหยียบคลัทช์ ไม่ควรเหยียบแช่ค้างไว้แบบครึ่งๆ กลางๆ หรือที่เรียกกันว่า "เลี้ยงคลัทช์" ควรถอนเท้าออกให้สุดทุกครั้ง พฤติกรรมแบบนี้มักเกิดขึ้นในเมือง หรือในที่มีการจราจรแออัด

- อย่าออกรถกระชากคลัทช์ การออกรถรุนแรง (ปล่อยคลัทช์เร็วเกินไป) นอกจากจะส่งผลให้คลัทช์สึกหรอเร็วแล้ว ยังทำให้ระบบเกียร์เกิดปัญหาตามไปด้วย ควรปล่อยคลัทช์ให้ถูกจังหวะ และสัมพันธ์กับคันเร่งทุกครั้งจะดีที่สุด

- อย่าเหยียบคลัทช์โดยไม่จำเป็น เราใช้คลัทช์ก็ต่อเมื่อ ต้องการที่จะเปลี่ยนตำแหน่งของเกียร์ต่างๆ เท่านั้น ดังนั้นใครที่ใช้คลัทช์บ่อยๆ โดยเกินความจำเป็น เช่น เวลาเบรค ไม่ว่าจะเร็วหรือช้า ก็ต้องเหยียบคลัทช์ไว้ก่อน พฤติกรรมแบบนี้ก็ควรเปลี่ยนเสีย

- อย่าพักเท้าไว้ที่คลัทช์ ในรถรุ่นใหม่ๆ มักมีที่พักเท้ามาให้ หลายคนมักชอบพักเท้าไว้ที่คลัทช์ เพื่อจะเปลี่ยนเกียร์ได้สะดวก แต่พฤติกรรมแบบนี้ผิด เพราะน้ำหนักเพียงน้อยนิดอาจทำให้จานกดคลัทช์หนีห่างจากฟลายวีล จะทำให้คลัทช์สึกหรอเร็วกว่าปกติ

ขั้นตอนการตรวจเช็คคลัทช์เบื้องต้น

1. ดึงตัวล็อคฝากระโปรงภายในรถออกก่อนเป็นอันดับแรก เปิดฝากระโปรงหน้าขึ้น แล้วตั้งไม้ค้ำฝากระโปรงให้แข็งแรง

2. หากระปุกน้ำมันคลัทช์ โดยสังเกตจากกระปุกจะมีขนาดเล็กกว่าน้ำมันเบรค

3. ตรวจเช็คน้ำมันคลัทช์ ต้องให้อยู่ในระดับ FULL เสมอ ถ้าน้ำมันคลัทช์อยู่ในระดับปกติแล้ว ให้สตาร์ทเครื่องยนต์

4. เหยียบคันเร่งให้รอบเครื่องสูงประมาณ 4,000 รตน. ใส่เกียร์สูงที่สุดของรถ เช่น เกียร์ 5  ถอดคลัทช์พร้อมกับเหยียบคันเร่งให้สุด โดยต้องทำให้สัมพันธ์กัน

5. ดูที่รอบเครื่องยนต์ของรถ ถ้าเครื่องดับทันทีแสดงว่าคลัทช์ยังดีอยู่ ถ้าเครื่องยนต์ยังติดอยู่ แสดงว่าคลัทช์ไม่ดีแล้ว ควรเปลี่ยนใหม่

6. ปลดเกียร์ 5 ให้อยู่ในตำแหน่งเกียร์ว่าง แล้วดับเครื่องยนต์ ปิดฝากระโปรงหน้า ด้วยวิธียกแล้วปล่อยให้สนิท

ทั้งหมดนี้ก็เป็นข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องคลัทช์ ที่เราอยากให้ผู้ใช้รถทุกท่านได้ทราบและเข้าใจเกี่ยวกับคลัทช์รถยนต์ได้อย่างถูกต้อง เพราะอาการคลัทช์หมด หรือครัทช์เสีย นี้ ยังมีหลายคนจริงๆที่ยังไม่ทราบ โดยเฉพาะผู้ที่ใช้รถระบบเกียร์อัตโนมัติ ซึ่งจริงๆก็ต้องอาศัยครัทช์เหมือนระบบเกียร์ธรรมดา ฉะนั้น ไม่ว่าคุณจะใช้รถระบบเกียร์แบบไหน อย่าลืมที่จะเช็คน้ำมันคลัทช์และสังเกตอาการรถของคุณอยู่เสมอ หากไม่มั่นใจหรือต้องการตรวจเช็คให้แน่ใจ ท่านสามารถเข้ามาใช้บริการตรวจได้ที่เยลโล่เซอร์วิสทุกสาขา  ใกล้สาขาไหนไปสาขานั้นได้เลยครับ ทีมช่างของเราพร้อมให้บริการ

 

รู้เรื่องรถ

Visitors: 81,310