ประเภทรถยนต์ SUV, PPV, Crossover และ MPV

ในยุคปัจจุบันนี้ เมื่อไลฟ์สไตล์ของการใช้ชีวิตเปลี่ยน ความต้องการก็ย่อมเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย เช่นเดียวกับความต้องการใช้งานรถยนต์ ที่ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย เพื่อให้เหมาะสมต่อการใช้งานแต่ละประเภท

การจะซื้อรถยนต์หนึ่งคันนอกจากฟังก์ชันการใช้งานของรถแต่ละรุ่นแล้ว เทคโนโลยีและสมรรถนะของเครื่องยนต์ก็สำคัญ รวมไปถึงประเภทรถยนต์ก็เช่นกัน ซึ่งหลายๆ คนอาจจะคุ้นเคยกับคำว่า รถเก๋ง รถกระบะ รถสปอร์ต กันอยู่บ่อยๆ ก็ถือเป็นเรื่องปกติ แต่จริงๆ

แล้วรถยนต์นั้นมีหลากหลายรูปแบบมาก รวมถึงคำถามที่หลายๆคนสงสัยกับ ประเภทรถยนต์ SUV, PPV, Crossover และ MPV ว่ามีข้อแตกต่างกันอย่างไร และแบ่งแยกจากอะไรบ้าง

เพื่อให้ทุกคนเข้าใจถึงการแบ่งประเภทรถยนต์ต่างๆ ได้ดีมากขึ้น ในวันนี้เราก็ได้นำข้อมูลของรถยนต์แต่ละแบบว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร รวมทั้งชื่อเรียกของแต่ละประเภทว่ามีแบบไหนบ้าง ไปดูกันครับว่ารถแต่ละประเภทนั้นมีอะไรบ้าง

รถยนต์อเนกประสงค์

รถยนต์อเนกประสงค์ คือ รถที่ออกแบบมาเพื่อการใช้งานที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น เหมาะกับการเป็นรถครอบครัวเพื่อรองรับจำนวนสมาชิกที่ค่อนข้างมากของครอบครัวใหญ่ และมีความต้องการใช้พื้นที่ในรถยนต์ที่กว้างขวางมาก เทรนด์การใช้รถอเนกประสงค์ในบ้านเราเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้หลายครอบครัวเริ่มมองหารถอเนกประสงค์มาไว้ใช้ภายในบ้านกันเป็นอย่างมาก

รถยนต์อเนกประสงค์ในประเทศไทย มี 4 ประเภทด้วยกัน ได้แก่ SUV, PPV, Crossover และ MPV โดยแต่ละประเภทจะมีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับการใช้งานรถยนต์ของผู้ขับขี่ด้วยเช่นกัน และไลฟ์สไตล์การขับขี่ของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน

รถ SUV

 

1.รถ SUV (Sport Utility Vehicle)
รถ SUV คือ รถยนต์ที่มีความสมบุกสมบันพอสมควร และสามารถขับแบบ Off-road ได้ ปัจจุบันรถ SUV ออกแบบให้มีความสปอร์ตมากขึ้น โดยมีจุดเด่นคือภายในห้องโดยสารกว้างขวาง ตัวถังรถยนต์มีขนาดใหญ่สามารถบรรจุเบาะโดยสารได้ 5-7 ที่นั่งเลยทีเดียว ทั้งนี้ SUV ยังมีช่วงล่างที่แข็งแรง สามารถเลือกได้ทั้งแบบขับเคลื่อน 2 ล้อ หรือ 4 ล้อ เหมาะแก่การขับขี่ระยะไกล รวมถึงเครื่องยนต์แรง และมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครัน

เหมาะกับใคร : เหมาะกับผู้ขับขี่ที่ต้องการรถขนาดใหญ่ในการบรรทุกสิ่งของสำหรับเดินทางไกลบ่อยครั้ง บรรจุคนได้จำนวนมาก เป็นขาลุย ชอบขับขี่เชิงผจญภัยที่ต้องการกำลังของเครื่องยนต์มากๆ

ตัวอย่างรถยนต์ : Nissan X-Trail, Nissan Patrol, Honda CR-V หรือ Toyota Land Cruiser

2.รถ PPV (Pick-Up Passenger Vehicle)
รถ PPV เป็นรถยนต์อเนกประสงค์ที่มีพื้นฐานมาจากรถกระบะ PPV ตัวถังค่อนข้างใหญ่ ภายในห้องโดยสามารถกว้างขวางสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 7 ที่นั่ง รถ PPV มีระบบช่วงล่างแบบคอยล์สปริง แทนแหนบซ้อนกันแบบหลายแผ่น ทำให้มีความนุ่มนวลในขณะขับขี่ นุ่มนวล นั่งสบายไม่แข็งกระด้างแบบรถกระบะทั่วไป แต่ยังให้สมบุกสมบันไปพร้อมกันด้วย

เหมาะกับใคร : ผู้ขับขี่ที่กำลังมองหารถกระบะสักคัน แต่ต้องการพื้นที่ในห้องโดยสารเยอะกว่าปกติ และเน้นโดยสารมากกว่าบรรทุกสิ่งของอย่างรถกระบะทั่วไป

ตัวอย่างรถยนต์ : Toyota Fortuner, Isuzu MU-X, Chevrolet Trailblazer หรือ Mitsubishi Pajero Sport

3.รถ Crossover (Crossover Utility Vehicle)
รถ Crossover เป็นรถที่ใช้โครงสร้างตัวถังแบบ Unibody หรือแชสซี คือตัวถังที่เป็นชิ้นเดียวกัน หรือมีพื้นฐานมาจากรถเก๋ง มีลักษณะที่คล้ายคลึงกับรถเก๋งโดยนำมายกสูง รูปลักษณ์สปอร์ต โฉบเฉี่ยว สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 5 ที่นั่ง บรรทุกสิ่งของได้มาก มีความคล่องตัวมากกว่ารถเก๋งทั่วไป และสามารถเลือกระบบขับเคลื่อนได้ทั้ง 2 ล้อ และ 4 ล้อ

 

เหมาะกับใคร : ผู้ขับขี่ที่ต้องการเพิ่มพื้นที่ในการบรรทุกสิ่งของ และห้องโดยสารที่กว้างขวางกว่ารถเก๋ง ไม่ต้องการรถที่มีขนาดใหญ่มาก ชอบความกะทัดรัดเป็นหลัก และไม่เน้นเรื่องความสมบุกสมบัน และเหมาะกับผู้ขับขี่ที่อาศัยในตัวเมือง

ตัวอย่างรถยนต์ : Toyota CH-R, Honda HR-V, Mazda CX-3 หรือMercedes-Benz GLA

รถ MPV

4.รถ MPV (Multi Purpose Vehicle)
รถ MPV หรือที่รู้จักกันในนามรถครอบครัว เป็นรถที่ออกแบบมาให้รองรับผู้โดยสารได้จำนวนมาก สามารถโดยสารได้ 5 – 7 ที่นั่ง ตัวรถเป็นทรงเหลี่ยมยกสูง ทำให้พื้นที่การใช้งานเยอะกว่ารถทั่วไป ภายนอกรถยนต์จะมีลักษณะคล้ายกับรถตู้ หรือมินิแวน มาพร้อมด้วยฟังก์ชัน และอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ภายในรถยนต์ แต่ด้วยขนาดที่ใหญ่ของรถ MPV อาจเป็นปัญหาได้เมื่อต้องขับบนถนนแคบ ๆ หรือตอนหาที่จอดรถ

เหมาะกับใคร : ผู้ขับขี่ที่มีครอบครัวใหญ่ มีเด็กเล็ก และมีผู้สูงอายุ เพราะสามารถบรรจุผู้โดยสารได้จำนวนมาก และยังเหมาะกับการขับขี่ในระยะไกล สามารถโดยสารได้อย่างสะดวกสบาย โดยสารได้อย่างนุ่มนวลอีกด้วย

ตัวอย่างรถยนต์ : Toyota Alphard, Hyundai H-1, Toyota Sienta หรือToyota Innova
ประเภทของรถยนต์และลักษณะที่ควรรู้

1. ซีดาน (Sedan)
เป็นหนึ่งในโมเดลที่คุ้นหน้าคุ้นตามากที่สุดในฐานะรถครอบครัวขนาดกะทัดรัด โดยจุดเด่นของรถรุ่นนี้คือ เป็นรถตัวถัง 4 ประตู และมีโซนสำหรับห้องสัมภาระท้ายใต้กระจกด้านหลังที่แยกจากกัน ตัวถังจะมีขนาดที่หลากหลาย และครอบคลุมทั้งรถธรรมดาจนถึงรถหรู ซึ่งคนไทยจะเรียกรถประเภทนี้ว่ารถเก๋ง

ตัวอย่างของรถ : เช่น Honda City, Toyota Vios, Honda Civic, Toyota Camry และ Honda Accord

2. แฮตช์แบ็ก (Hatchback)
เป็นรถยนต์นั่งที่มีลักษณะคล้ายกับรถซีดาน แต่มีช่วงท้ายที่สั้น หรือที่เรียกกันว่าท้ายตัด มีทั้งรุ่น 3 ประตู และ 5 ประตู โดยนับจากประตูด้านข้างซ้าย-ขวา และฝากระโปรงหลังเป็นอีก 1 ประตู รถประเภทนี้จะใช้พื้นฐานร่วมกับรถตัวถังซีดาน นอกจากนี้ตัวรถมีพื้นที่บรรจุสัมภาระด้านท้ายได้มากขึ้น อีกทั้งอาจจะสามารถพับเบาะแถวสองของรถเพื่อเพิ่มพื้นที่อีกด้วย โดยรถในรูปแบบนี้จะครอบคลุมตั้งแต่รถธรรมดาจนถึงรถหรู

ตัวอย่างของรถ : เช่น Mazda2, Toyota Yaris GR Sport, Honda Civic Hatchback และ Audi A3


3. สเตชั่นแวกอน (Station Wagon)
เป็นรถที่มีความคล้ายกับรถแฮตช์แบ็ก โดยจะมีส่วนท้ายที่ยื่นยาวมากกว่า สำหรับรองรับการบรรทุกสัมภาระ พร้อมกับถูกออกแบบเพิ่มจำนวนเสาของตัวรถ เพื่อให้มีพื้นที่โดยสาร หรือเก็บสัมภาระมากขึ้น

ตัวอย่างของรถ : ในตลาดบ้านเราจะมี MG EP ที่มาในรูปแบบรถยนต์ไฟฟ้า, Mercedes-Benz E-Class Estate และ Subaru Outback

4. คูเป้ (Coupe)
สำหรับรถประเภทนี้จะเป็นรถ 2 ประตู พร้อมหลังคาที่ออกแบบให้ลาดท้าย ส่วนภายในจะมีให้เลือกทั้งแบบ 2 ที่นั่ง หรือ 4 ที่นั่ง ตามขนาดตัวถัง ส่วนมากจะพบได้ในกลุ่มรถสปอร์ต

ตัวอย่างของรถ : เช่น Toyota GR86, Ford Mustang, Porsche Boxster รวมถึง MG5, Mercedes-Benz CLS และ BMW X6 SUV

รถกระบะ

5. รถกระบะ (Pickup)
รถประเภทนี้จะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ด้วยตัวรถที่แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนหน้าเป็นห้องสำหรับโดยสาร และส่วนหลังเป็นกระบะสำหรับบรรทุกของและสามารถเปิดท้ายได้ รวมถึงมีตัวเลือกขับเคลื่อน 2 ล้อหลัง และ 4 ล้อ สำหรับออฟโรด ใช้งานได้ตั้งแต่เป็นรถยนต์นั่งทั่วไป จนถึงรถบรรทุกใช้งาน ซึ่งจะเป็นรถที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในตลาดเมืองไทย เพราะถือว่าเป็นประเทศที่ผลิตรถยนต์ประเภทนี้มากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

ตัวอย่างของรถ : เช่น Toyota Hilux Revo, Isuzu D-Max, Mitsubishi Triton, Nissan Navara, Ford Ranger, Mazda BT-50 และค่ายรถยนต์จากเมืองจีนอย่าง MG Extender

6. รถแวน (Van)
รถประเภทนี้จะมีจุดเด่นที่หลังคาสูงใหญ่ และเพื่อความสะดวกสบายในขณะเข้า-ออก จึงต้องมาพร้อมกับประตูสไลด์ ส่วนภายในจะสามารถปรับตำแหน่งเบาะนั่งได้ด้วยรางบนพื้น และไม่มีเนินครอบเพลากลางเนื่องจากตัวรถยกสูง ทำให้เข้า-ออกได้คล่องตัว เป็นรถที่ออกแบบมาสำหรับครอบครัวโดยเฉพาะ

ตัวอย่างของรถ : เช่น Hyundai Staria, Toyota Hiace และ Volkswagen Caravelle เป็นต้น

7. สปอร์ตคาร์ (Sportcar)
สำหรับรถกลุ่มนี้จะต่อยอดมาจากตัวถังคูเป้เป็นหลัก แต่มีบางรุ่นที่เป็นแบบ 4 ประตู โดยเน้นการออกแบบให้ลู่ลมมากที่สุด เกาะถนนมากที่สุด มาพร้อมกับเครื่องยนต์กำลังสูง ทั้งการออกแบบให้มีความสูงใต้ท้องรถที่ต่ำ ล้อขนาดใหญ่ และส่วนมากเครื่องยนต์จะวางกลางหรือวางหลัง ไปจนถึงการใช้วัสดุน้ำหนักเบามาประกอบตัวถัง

โดยจะแบ่งและเรียกชื่อแตกต่างกัน ดังนี้
ซูเปอร์คาร์ (Supercar) เป็นรถที่มีสมรรถนะมากกว่า 500 แรงม้าขึ้นไป เช่น Porsche 911, Mercedes Amg GT, Lamborghini Huracan และ Ferrari 488 เป็นต้น

มัสเซิลคาร์ (Muscle Car) ที่เน้นเครื่องยนต์ทรงพลัง พร้อมตัวถังที่บึกบึน โดดเด่น เช่น Ford Mustang และ Dodge Challenger

ไฮเปอร์คาร์

 

ไฮเปอร์คาร์ (Hypercar) ที่ใช้เทคโนโลยีจากรถแข่งมาใส่ไว้ในรถสปอร์ต เครื่องยนต์ที่ให้กำลังมากกว่า 800 ถึงพันแรงม้าขึ้นไป ภายใต้รูปทรงที่โฉบเฉี่ยว ผลิตในจำนวนจำกัด แถมราคาตีเลขไทยทะลุร้อยล้าน เช่น Bugatti Veyron, Pagani Huayra, Ferrari LaFerrari และ McLaren P1

ทั้งหมดนี้ ก็คือความแตกต่างของรถยนต์แต่ละประเภท รวมถึงรถยนต์อเนกประสงค์ SUV, PPV, Crossover และ MPV ที่หลายๆคนถามถึง ซึ่งก็คงจะได้คำตอบกันไปแล้วจากบทความนี้ เพราะแต่ละประเภทล้วนมีข้อดี และจุดเด่นที่แตกต่างกันออกไป การเลือกซื้อรถให้เหมาะสมนั้นก็ขึ้นอยู่กับความต้องการ และลักษณะการใช้งานที่แตกต่างกันของแต่ละบุคคล

Visitors: 81,310